เกี่ยวกับงาน

มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 7 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ (Thailand Research Expo) ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัย และกิจกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพในเวที ระดับชาติของเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ เพื่อมุ่งหวังให้ ผลงานวิจัย และกิจกรรมการวิจัยได้เผยแพร่สู่ผู้ใช้ประโยชน์รวมทั้ง เป็นการกระตุ้นให้นักวิจัยในเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ และหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพนำสู่การใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การนำเสนอผลงานวิจัยได้ขยายขอบเขตของการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในภูมิภาคต่างๆ มากยิ่งขึ้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) โดยข้อเสนอแนะจากผู้บริหารหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จึงได้กำหนดให้มีการจัดงานนำเสนอ ผลงานวิจัยในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย รวมทั้ง เป็นการเตรียมการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” (Thailand Research Expo) ในภาพรวมซึ่งได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำในทุกๆปี ตามที่กล่าวมาทั้งนี้การจัดงาน “มหกรรมวิจัยส่วน ภูมิภาค (Regional Research Expo)” มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยลำดับดังนี้
ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2556 ณ ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “วิจัยเพื่อการเรียนรู้ สู่การใช้ประโยชน์”
ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2557 ณ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อการเรียนรู้สู่การนำไปใช้ประโยชน์”
ครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2558 ณ ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิด “วิจัยสร้างความรู้ถ่ายทอดสู่สังคม”
ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2559 ณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพร่วมจัด ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”
ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2560 ณ ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพภายใต้แนวคิด “เช็คอินถิ่นเหนือเพื่อวิจัยสู่ความยั่งยืน”
ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2561 ณ ภาคใต้ โดยมีมหาวิทยาลัยทักษิณ (มทษ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา (มทร.ศรีวิชัย) และเครือข่ายวิจัยภูมิภาคใต้ ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ ภายใต้แนวคิดหลัก “วิจัยและนวัตกรรมปักษ์ใต้สู่การพึ่งพาของสังคม”
และในครั้งที่ 7 ที่กำลังจะดำเนินการในปี พ.ศ. 2562 ณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะจัดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์(มร.ภ.บร.) จะเป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิด “งานวิจัยสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์” เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นฐานในการต่อยอดผลงานผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ก้าวสู่มาตรฐานในระดับต่างๆอย่างมั่นคง

2.วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์และงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
2.2 เพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพในเวทีระดับภูมิภาค
2.3 เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่นักวิจัยผลิตผลงานที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากในระดับภูมิภาคเผยแพร่สู่สาธารณะ

3. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

3.1 เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์และงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์สู่สาธารณะ
3.2 ผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะและผู้ใช้ประโยชน์ โดยตรงในระดับภูมิภาค

4. ขอบเขตการดำเนินงาน

“มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาคประจำปี 2562 (Regional Research Expo 2019)” ภายใต้แนวคิด “งานวิจัยสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์” โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน ดังนี้
4.1 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นแกนหลักในการจัดงานโดยเชิญ เครือข่ายวิจัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมเป็นคณะกรรมการทุกสถาบัน
4.2 จัดตั้งคณะกรรมการจัดงานชุดต่างๆ โดยมีผู้บริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นประธานและ ตัวแทนจากเครือข่ายวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ
4.3 จัดกิจกรรมภายในงาน ดังนี้
4.3.1 จัดพิธีเปิดงาน และพิธีปิดงาน
4.3.2 จัดนิทรรศการโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
4.3.3 จัดนิทรรศการผลงานวิจัย และการสนับสนุนงานวิจัย
4.3.4 จัดประชุมวิชาการ การเสวนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งเวทีใหญ่ และห้องย่อย
4.3.5 จัดกิจกรรม Highlight Stage
4.3.6 จัดนิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ให้คำปรึกษานำความรู้จากงานวิจัยสู่เชิงสร้างสรรค์และการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
4.3.7 จัดทำสูจิบัตรผลงานวิจัยที่นำเสนอในงาน
4.3.8 จัดทำ website “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2562 (Regional Research Expo 2019) และทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับเครือข่ายวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและผู้เข้าร่วมประชุม
4.3.9 จัดทำแผนการประชาสัมพันธ์
4.3.10 จัดทำรายงานประเมินผลการจัดงาน

5. แนวคิดการจัดงาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูง อาณาเขตด้านเหนือและตะวันออก มีแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นอาณาเขต ด้านใต้จรดเขตชายแดน กัมพูชา ส่วนทางด้านตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาดงพญาเย็นกั้นแยกจากอาณาเขตภาคกลางและภาคเหนือ ยอดเขาที่สูงที่สุดของอีสานคือ ยอดเขาภูกระดึง ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่เป็นอารยธรรมโบราณ ประชากรที่อาศัยอยู่ส่วนมากเป็นคนไทยเชื้อสายลาวและเชื้อสายเขมร มีคตินิยมผูกแน่นอยู่กับ ประเพณีโบราณมีการรักษา สืบเนื่องต่อกันมา
จึงเป็นถิ่นแดนที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมประเพณีที่ผสมผสานความเชื่อถือในเรื่องของการนับถือผี และคติทางพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกันศิลปและวัฒนธรรมของภาคอีสานโดยภาพรวมมีดังนี้ การทอผ้า เพลงพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน การแต่งกาย ประเพณีการละเล่นประจำถิ่น อาหารพื้นถิ่นแต่ละชาติพันธุ์ บุญประเพณีที่หลากหลาย (บุญแห่เทียนพรรษา บุญบั้งไฟ แซนโดนตา บุญผะเหวด การเล่นว่าว บุญข้าวประดับดิน ผีตาโขน เป็นต้น) และอุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีคุณภาพและหลากหลาย เช่น
เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในประเทศไทย แหล่งทอและเลี้ยงไหมชั้นเลิศ แหล่งผลิตอ้อยและน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นแหล่งผลิตกล้วย ฝรั่ง มะละกอ แตงโม มากที่สุด จากความหลากหลายดังกล่าวส่งผลให้เกิดผลงานวิจัยที่หลากหลายด้านเช่นกัน ดังนั้น“มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาคประจำปี 2562 (Regional Research Expo 2019)” เครือข่ายวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะนำเสนอผลงานวิจัยที่มีความ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ดังนี้
1. ด้านอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (Bio-based) หรืออุตสาหกรรมการเกษตร
2. ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ยุค 4.0
3. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลยุค 4.0
4. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชน
5. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรท้องถิ่น
6. ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
7. ด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวะวิถี
8. ด้านการละเล่นและประเพณีท้องถิ่น
9. ด้านการท่องเที่ยวชุมชนที่หลากหลาย
10. ด้านการส่งเสริมสุขภาวะชุมชน
11. ด้านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง